ในช่วงนี้กระแสสมาร์ทโฟนที่มีความสามารถกันน้ำได้กำลังมาแรง นับตั้งแต่ที่ Sony เริ่มชูความสามารถพิเศษนี้บนมือถือรุ่นเรือธง (flag ship) อย่าง Sony Xperia Z ก็ได้รับกระแสตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี ทำให้มือถือ Sony ในรุ่น High-End ที่ออกมาหลังจาก Xperia Z ต่างก็พกพาความสามารถนี้มาด้วย ทำให้คู่แข่งเจ้าตลาดอย่าง Samsung อยู่เฉยไม่ได้ ต้องเข็นความสามารถกันน้ำลงในมือถือ flag ship ล่าสุดอย่าง Galaxy S5 และด้วยความเก่งกาจทางด้านการตลาดของ Samsung ทำให้กระแสสมาร์ทโฟนกันน้ำกันฝุ่นได้บูมขึ้นมา จนกระทั่งหลายๆ เว็บสื่อในต่างประเทศอย่าง นู่น นี่ และนั่น ต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า iPhone 6 ที่กำลังจะออกมาควรจะมีความสามารถกันน้ำได้เหมือนสองคู่แข่งยักษ์ใหญ่จากค่ายแอนดรอยด์ เพราะบรรดาสื่อต่างประเทศต่างก็ยกให้ความสามารถกันน้ำใน Galaxy S5 เป็นฟีเจอร์เด็ด (killer feature)
ด้วยกระแสสมาร์ทโฟนกันน้ำที่มาแรง ทำให้เหล่าบรรดาแฟนๆ Apple ต่างมโนกันไปว่า iPhone 6 (Concept Phone) ที่อีกไม่นานจะเปิดตัว ก็น่าจะมาพร้อมกับความสามารถกันน้ำเช่นกัน
ไม่แน่ว่าในอนาคตสามารถทางด้านการกันน้ำกันฝุ่นอาจจะมีอยู่ในสมาร์ทโฟนเกือบทุกรุ่น ในวันนี้เรามาลองทำความรู้จักกันก่อนว่ามาตรฐานสำหรับการกันน้ำกันฝุ่นที่นำไปใช้บนมือถือนั้นเป็นยังไง มีอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้รู้และใช้งานมือถือเหล่านั้นได้ถูกลักษณะ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับมือถือของเรา
IP Code (ในบางครั้งอาจจะเรียกว่า IP rating) ย่อมาจาก International Protection Marking หรือ Ingress Protection Marking เป็นมาตรฐานสากลที่ทาง IEC (International Electrotechnical Commission) ใช้กำหนดความสามารถในการป้องกันตัวของอุปกรณ์จากสิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อป้องกันวงจรภายในจากน้ำและของแข็ง ซึ่งในบางครั้งอาจจะสามารถป้องกันได้มากกว่าน้ำและของแข็ง เช่น น้ำมัน แรงกระแทก และอื่นๆ เป็นต้น
ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักเจ้า IP Code นี้กันว่ามันมีลักษณะหรือระดับการป้องกันยังไง และสุดท้ายวิธีการอ่านค่า IP Code ซึ่งเริ่มแรกเรามารู้จักลักษณะของมันก่อนว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ลักษณะ IP Code และระดับการป้องกัน
IP Code มีลักษณะขึ้นต้นด้วย IP แล้วตามด้วยตัวเลข 2 หลัก (IP XX) ซึ่งตัวเลขหลักแรกหมายถึงค่าป้องกันอนุภาคของแข็งเข้าไปในอุปกรณ์ ส่วนตัวเลขหลักที่สองหมายถึงค่าป้องกันของเหลว (น้ำ) แทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์ แต่ในบางครั้งอาจจะมีตัวอักษรหนึ่งตัวห้อยท้ายตามหลัง โดย IP Code มี format ตามตารางด้านล่างนี้
ค่าการป้องกันอนุภาคของแข็งเข้าไปในอุปกรณ์
|
ค่าการป้องกันของเหลวแทรกซึม
|
ค่าการป้องกันอื่นๆ
| |
IP
|
เป็นตัวเลขหลักเดียว (0-6)
|
เป็นตัวเลขหลักเดียว (0-9)
|
ตัวอักษรภาษาอังกฤษหนึ่งตัว
|
หมายเหตุ
|
ในบางครั้งอาจจะมีตัวอักษร K ห้อยท้าย
|
ค่าการป้องกันอนุภาคของแข็ง (Solid Particle Protection)
ค่าการป้องกันที่ว่านี้เป็นคนละตัวกับการป้องกันแรงกระแทกและรอยขีดข่วน โดยค่าการป้องกันนี้เป็นตัวบอกว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถป้องกันอนุภาคของของแข็งเข้ามาในตัวเครื่องได้ในระดับไหน ซึ่งจะมีด้วยกันอยู่ 7 ระดับ (0-6)
- ระดับ 0 ไม่สามารถป้องกันอะไรได้เลย
- ระดับ 1 สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่เกิน 50 มิลลิเมตร เข้ามาในอุปกรณ์
- ระดับ 2 สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 12.5 มิลลิเมตร เข้ามาในอุปกรณ์
- ระดับ 3 สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 มิลลิเมตร เข้ามาในอุปกรณ์
- ระดับ 4 สามารถป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 มิลลิเมตร เข้ามาในอุปกรณ์
- ระดับ 5 สามารถกันฝุ่นได้ระดับหนึ่ง สามารถมีฝุ่นเล็ดรอดเข้าไปในอุปกรณ์ได้เล็กน้อย
- ระดับ 6 สามารถป้องกันฝุ่นได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์
หมายเหตุ ค่าป้องกันอนุภาคของแข็งในบางครั้ง อาจจะไม่ได้หมายถึงการป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้ามาภายในตัวอุปกรณ์ได้เพียงอย่างเดียว อาจจะหมายถึงการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ไปสัมผัสกับชิ้นส่วนภายในได้โดยตรง เช่น แผงวงจรหรือสายไฟ โดยวัตถุขนาด 50 มิลลิเมตรนั้นหมายถึงหลังมือของผู้ใช้ ส่วนขนาด 12.5 มิลลิเมตร ป้องกันไม่ให้นิ้วมือเข้าไปสัมผัสกับชิ้นส่วนภายใน
ส่วน 2.5 และ 1 มิลลิเมตร มีไว้เพื่อไม่ให้อุปกรณ์ต่างๆ จากภายนอกเข้าถึงตัวชิ้นส่วนภายในได้โดยตรง เช่น ไขขวง คีม สายไฟ ยกตัวอย่างเช่นตู้ ATM ต้องป้องกันไม่ให้ผู้ใช้เข้าถึงอุปกรณ์ภายในเพื่อป้องกันการโจรกรรม
ค่าการป้องกันของเหลวแทรกซึม (Liquid Ingress Protection)
ค่าป้องกันของเหลวในที่นี้หมายถึงค่าการป้องกันของเหลวจำพวกน้ำเท่านั้น ไม่รวมถึงการป้องกันของของเหลวชนืดอื่นที่ไม่ใช่น้ำ อย่างเช่น น้ำมัน ซึ่งค่าป้องกันที่ว่านี้จะมีด้วยกันอยู่ 12 ระดับ (0-9k)
- ระดับ 0 ไม่สามารถป้องกันอะไรได้เลย
- ระดับ 1 ป้องกันหยดน้ำ (กันน้ำ:waterproof)
สามารถป้องกันอุปกรณ์จากหยดน้ำที่ตกกระทบกับอุปกรณ์ในแนวตั้ง ทดสอบโดยการหยดน้ำลงไปบนอุปกรณ์ตรงๆ 10 นาที ในปริมาณน้ำเทียบเท่ากับปริมาณน้ำฝน 1 มิลลิเมตรต่อนาที
- ระดับ 2 ป้องกันหยดน้ำ (กันน้ำ:waterproof) ในระดับเอียงได้ถึง 15 องศา
สามารถป้องกันอุปกรณ์จากหยดน้ำที่ตกกระทบกับอุปกรณ์ได้ในมุม 15 องศาจากแนวตั้งได้ ทดสอบโดยการหยดน้ำลงไปบนอุปกรณ์ตรงๆ 10 นาที ในปริมาณน้ำเทียบเท่ากับปริมาณน้ำฝน 3 มิลลิเมตรต่อนาที
- ระดับ 3 ป้องกันการฉีดน้ำ (กันน้ำ:waterproof) ในระดับเอียงได้ถึง 60 องศา
สามารถป้องกันอุปกรณ์จากการฉีดน้ำที่ตกกระทบกับอุปกรณ์ได้ในมุม 60 องศาจากแนวตั้งได้โดยไม่ก่อเกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์ตรงๆ 5 นาที ในปริมาณน้ำ 700 มิลลิลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 80 - 100 กิโลปาสคาล
- ระดับ 4 ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการสาด (น้ำสามารถเข้าไปในอุปกรณ์ได้เล็กน้อย)
สามารถป้องกันน้ำจากการสาด (Water splashing) ในทุกๆ ทิศทาง โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์รอบทิศทาง 5 นาที ในปริมาณน้ำ 10 ลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 80 - 100 กิโลปาสคาลที่ระยะห่าง 3 เมตร
- ระดับ 5 ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการฉีด
สามารถป้องกันน้ำจากหัวฉีดน้ำขนาด 6.3 มิลิเมตรได้รอบทิศทางได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์รอบทิศทาง 15 นาที ในปริมาณน้ำ 12.5 ลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 30 กิโลปาสคาลที่ระยะห่าง 3 เมตร
- ระดับ 6 ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการฉีดด้วยแรงฉีดที่มากกว่าระดับ 5 (น้ำสามารถเข้าไปในอุปกรณ์ได้เล็กน้อย)
สามารถป้องกันน้ำจากหัวฉีดขนาด 12.5 มิลิเมตรได้รอบทิศทางได้โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์รอบทิศทาง 3 นาที ในปริมาณน้ำ 100 ลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 100 กิโลปาสคาลที่ระยะห่าง 3 เมตร
- ระดับ 6K ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการฉีดน้ำด้วยแรงดันสูง (น้ำสามารถเข้าไปในอุปกรณ์ได้เล็กน้อย)
เป็นมาตรฐานที่ต่อยอดจากระดับ 6 สามารถป้องกันน้ำจากหัวฉีดแรงดันสูงขนาด 12.5 มิลิเมตรได้รอบทิศทางได้โดยมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปได้เล็กน้อย ทดสอบโดยการฉีดน้ำลงไปบนอุปกรณ์รอบทิศทาง 3 นาที ในปริมาณน้ำ 75 ลิตรต่อนาทีด้วยแรงดันน้ำ 1000 กิโลปาสคาลที่ระยะห่าง 3 เมตร
- ระดับ 7 ป้องกันอุปกรณ์จากการจมน้ำ (กันน้ำซึม:water resistant) ได้ลึกถึง 1 เมตร
ป้องกันการแทรกซึมของน้ำเข้าไปในอุปกรณ์เมื่อนำอุปกรณ์ลงไปแช่น้ำในความลึกสูงสุด 1 เมตร การทดสอบจะนำอุปกรณ์ไปแช่น้ำในความลึกขั้นต่ำ 15 เซ็นติเมตร สูงสุด 1 เมตร นาน 30 นาที
- ระดับ 8 ป้องกันอุปกรณ์จากการจมน้ำ (กันน้ำซึม:water resistant) ได้ลึกมากกว่า 1 เมตร
ป้องกันการแทรกซึมของน้ำเข้าไปในอุปกรณ์เมื่อนำอุปกรณ์ลงไปแช่น้ำในความลึกที่มากกว่า 1 เมตรภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ผลิตอุปกรณ์นั้นๆ จะกำหนด อย่างสมาร์ทโฟนจำเป็นต้องปิดจุดเชื่อมต่อทั้งหมดก่อนจะนำลงน้ำ ส่วนความลึกสูงสุดจะเท่าไรก็ได้ตามแต่ผู้ผลิตอุปกรณ์จะกำหนดแต่ต้องมากกว่า 1 เมตร แต่ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ 3 เมตร แต่อย่างไรก็ตามอุปกรณ์นั้นๆ อาจจะมีน้ำแทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์ได้โดยที่ไม่ทำให้อุปกรณ์เสียหาย
- ระดับ 9K ป้องกันน้ำ (กันน้ำ:waterproof) จากการฉีดด้วยแรงดันและน้ำอุณหภูมิสูง
ป้องกันน้ำจากการฉีดน้ำแรงดันสูงในระยะใกล้ๆ ด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิสูง
ค่าการป้องกันอื่นๆ
เป็นมาตรฐานการป้องกันเพิ่มเติม มีไว้ป้องกันอันตรายจากการเข้าถึงอุปกรณ์จากสิ่งต่างๆ ซึ่งมักจะมีค่าเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวเดียวมีลักษณะดังนี้
- A ป้องกันอันตรายหากเอาหลังมือ (Back of Hand) ไปสัมผัสกับตัวอุปกรณ์
- B ป้องกันอันตรายหากเอานิ้ว (Finger) ไปสัมผัสกับตัวอุปกรณ์
- C ป้องกันอันตรายหากเอาทูลอย่างเช่น ไขขวง ถ้าไปสัมผัสกับตัวอุปกรณ์
- D ป้องกันอันตรายหากเอาสายไฟไปสัมผัสกับตัวอุปกรณ์
นอกเหนือจากนี้อาจจะยังมีตัวอักษรที่สามารถผนวกเข้าไปเพิ่มเติมใน IP Code ได้ เพื่อบอกข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับการป้องกันของตัวอุปกรณ์ มีลักษณะดังนี้
- f ป้องกันอุปกรณ์จากน้ำมัน
- H อุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันสูง (High voltage device)
- M ในขณะที่ทดสอบการกันน้ำอุปกรณ์มีการเคลื่อนไหว
- S ในขณะที่ทดสอบการกันน้ำอุปกรณ์ไม่มีการเคลื่อนไหว
- W เงือนไขเกี่ยวกับสภาวะอากาศ
วิธีการอ่านค่า IP Code หรือ IP rating
วิธีการอ่านให้อ่านค่าทีละตัว โดยเลขหลักแรกหมายถึงการป้องกันอนุภาคของแข็งเข้าไปในอุปกรณ์ ส่วนตัวที่สองหมายถึงการป้องกันของเหลวแทรกซึมเข้าอุปกรณ์ โดยจะขอยกตัวอย่างจากสองสมาร์ทโฟน flag ship ของ Sony และ Samsung ซึ่งนั่นก็คือ Sony Xperia Z2 และ Samsung Galaxy S5
- Sony Xperia Z2 มีค่า IP Code อยู่ 2 ชุด IP 55 และ IP 58 หลักแรกคือเลข 5 ทั้งสองชุด (IP 5X) นั่นหมายความว่า Xperia Z2 สามารถกันฝุ่นได้ในระดับนึง
ส่วนหลักที่สองมีตัวเลขด้วยกัน 2 ชุด ซึ่งหมายความว่ากันน้ำได้ 2 ระดับ ในระดับแรกเป็นระดับ 5 (IPX5) สามารถป้องกันน้ำจากการฉีดรอบทิศทางจากแรงดันที่ไม่สูงมากนักโดยที่น้ำจะไม่สามารถเข้าไปทำอันตรายกับตัวอุปกรณ์ ส่วนระดับที่สองคือระดับ 8 (IPX8) ป้องกันน้ำไม่ให้ซึมเข้าไปในอุปกรณ์จากการแช่ได้มากกว่า 1 เมตร ซึ่งในที่นี้ Sony ระบุไว้ว่า สามารถกันน้ำซึมได้ลึกสูงสุด 1.50 เมตรนาน 30 นาที แต่ Sony ก็ย้ำว่าจะป้องกันก็ต่อเมื่อปิดช่องเชื่อมต่อทั้งหมด
- Samsung Galaxy S5 มีค่า IP Code อยู่แค่ตัวเดียวนั่นคือ IP 67 นั่นคือ Samsung Galaxy S5 สามารถกันฝุ่นเข้าโดยสมบูรณ์แบบ (IP 6X) โดยที่ฝุ่นจะไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปในตัวเครื่องได้ และสามารถกันน้ำลึกได้สูงสุด 1 เมตรได้นาน 30 นาที เมื่อปิดช่องเชื่อมต่อทั้งหมดและฝาหลังต้องปิดสนิท
จากค่าที่เราอ่านได้จะเห็นได้ว่าตัวเครื่องของ Xperia Z2 ต้องระมัดระวังในเรื่องของการเอาไปเล่นกับฝุ่นเพราะยังมีโอกาสที่ฝุ่นเข้าไปในตัวเครื่องได้ แต่ Galaxy S5 สามารถกันฝุ่นได้สมบูรณ์แบบ แต่ในขณะเดียวกันตัว Xperia Z2 สามารถกันน้ำเข้าจากการโดนฉีด และกันน้ำซึมเข้าเครื่องได้ดีกว่าและลึกกว่า Galaxy S5
ข้อควรระวังและความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ IP Code
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ IP Code ในเรื่องการกันกระแทก
เริ่มแรกที่สมาร์ทโฟนกันน้ำเป็นที่รู้จักและเริ่มแพร่หลายในไทย (Motorola Defy) มีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่อง IP Code เข้าใจว่ามันกันฝุ่น กันน้ำ และกันกระแทกด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว Motorola Defy มันไม่ได้กันกระแทกเลย หากไปดูในเว็บต่างประเทศจะมีคำว่า กันรอยขีดข่วนและกันกระแทก (scratch-and impact-resistant) แต่นั่นมันหมายถึงหน้าจอที่เป็นกระจก Gorilla Glassไม่ใช่ตัวเครื่อง
โดยค่าป้องกันการกระแทกในมาตรฐาน IP Code จริงๆ แล้วมันก็มี เป็นตัวเลขหลักที่ 3 ของ IP Code (IP XXX) แต่ในปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว
ผมจำได้ในงาน Thailand Mobile Expo ปีนึงในบูธของ Motorola ได้มีการบอกว่า Motorola Defy กันกระแทกด้วย มีการสาธิตโดยการจับมันปาลงพื้นที่มีพรมด้านล่าง แล้วบอกว่าไม่เป็นอะไรเพราะมันกันกระแทก -_- ดังนั้นถ้าคุณได้ไปงาน Thailand Mobile Expo ในตอนนั้น และจำผิดๆ มาตั้งแต่ตอนนั้น โปรดทำความเข้าใจใหม่ด้วย
- ข้อควรระวังเกี่ยวกับการเอามือถือไปล้างผ่านก็อกน้ำ
อ้างอิงจากค่าแรงดันน้ำที่ใช้ทดสอบการกันน้ำในระดับที่ 0-6 (ยกเว้น 6K) จะเห็นได้ว่าแรงดันน้ำที่ทดสอบสูงสุดจะอยู่ที่ 100 กิโลปาสคาล แต่ถ้าเอาไปดำในน้ำลึก 1 เมตรก็จะสามารถทนทนแรงดันน้ำได้สูงสุดประมาณ 111 กิโลปาสคาลหรือประมาณ 16.1 PSI (อ้างอิงการแปลงค่าจากที่นี่) แต่ถ้าเป็น Xperia Z2 ที่กันน้ำลึกได้ 1.5 เมตรจะสามารถทนแรงดันน้ำได้เท่ากับ 16.8 PSI
ค่าแรงดันน้ำประปา (อ้างอิงแรงดันน้ำประปาประเทศอเมริกา) อยู่ที่ 60 PSI สูงกว่าค่าที่มือถือจะทนได้ถึง 3 เท่า ถึงแม้เราจะบอกว่าเราเปิดน้ำเพื่อล้างมือถือของเราด้วยน้ำที่ไม่แรง นั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรที่จะทำ ควรหลีกเลี่ยง เพราะในการทดสอบการกันน้ำ จะไม่ได้ฉีดน้ำเข้าใส่มือถือเราตรงๆ เหมือนที่เราเปิดล้างผ่านก็อก แต่จะฉีดใส่วัตถุที่อยู่ห่างออกไปไกลถึง 3 เมตร
หมายเหตุ ไม่รู้แรงดันน้ำประปาในไทยเราแรงเท่าไร แต่แรงดันปั้มน้ำอยู่ที่ ~40 PSI (อันนี้ก็แล้วแต่ปั๊มว่าจะมีแรงสูบแค่ไหน) ซึ่งแค่ค่านี้แรงดันน้ำก็สูงกว่าที่มือถือทนได้ถึง 2 เท่า
สุดท้ายแล้วอยากฝากเตือนว่าอย่าไว้ใจมาตรฐานการกันน้ำกันฝุ่นพวกนี้มากเกินไป ถึงแม้ว่ามือถือเหล่านี้จะกันน้ำกันฝุ่น แต่ก็ไม่มีผู้ผลิตค่ายไหนรับประกันความเสียหายที่เกิดจากฝุ่นและน้ำเลย นอกจากนี้แล้วหลังจากเอามือถือไปคลุกฝุ่นหรือลงน้ำแล้ว แนะนำให้ทำความสะอาดเครื่องหรือเช็ดให้แห้ง ไม่ควรที่จะให้น้ำเกาะตัวเครื่องนานเกินไป ถึงแม้ว่าตัวเครื่องจะกันน้ำก็จริง แต่มันอาจจะไม่สามารถกันความชื้นได้ เมื่อความชื้นสะสมเข้ามากๆ อาจจะก่อให้เกิดเป็นหยดน้ำที่ไปโผล่บนหน้าจอหรือเลนส์กล้องได้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีตัวอย่างในเรื่องนี้ให้เห็น
Credit : droidsans.com
อ้างอิง WikiPedia Phandroid และสุดท้ายขอบคุณรูปภาพประกอบน่ารักจาก http://www.ssl.co.th/blog